ข้อควรรู้ ! การใช้ยาคุมกำเนิดในการรักษาสิว

ก่อนอื่นเรามาดูกลไกการเกิดสิวกันก่อนซึ่งมี 4 ขั้นตอน
1. ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกินไป
2. การผลัดเซลล์ผิวหนังผิดปกติซึ่งจะทำให้รูขุมขนอุดตัน
3. การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง
4. กระบวนการอักเสบ อาจมีปัจจัยกระตุ้นสิวต่างๆ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างกับผิวหน้าหรือเส้นผม ทั้งนี้ความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, การรับประทานอาหาร ต่างมีผลกระตุ้นทำให้เกิดสิวได้

ยาคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. ประเภทฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-Only)
2. ประเภทฮอร์โมนรวม (Estrogen and progestin)

ยาคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวมเท่านั้นที่ช่วยเรื่องสิวได้ค่ะเพราะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ช่วยออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นต่อมไขมันที่ผิวหนังให้ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจนทำให้เกิดสิวนั่นเองค่ะ
ดังนั้นการเป็นสิวจากฮอร์โมนเพศไม่สมดุลซึ่งทำให้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากเกิน จึงสามารถรักษาได้โดยรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมค่ะ
เบื้องต้นสามารถประเมินว่าตัวเองเหมาะกับการรักษาสิวด้วยยาคุมกำเนิดหรือไม่ โดยดูจากอาการของฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ได้แก่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือมีสิวเห่อตามรอบเดือนทุกเดือน เป็นต้น

ยาคุมกำเนิดประเภทฮอร์โมนรวมมีหลายยี่ห้อ หากจะเริ่มทานเพื่อช่วยรักษาสิว ควรเลือกชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเป็นโดรสเพอริโนน (Drospirenone) เนื่องจากเป็นโปรเจสตินชนิดเดียวที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้การรับรองว่ามีฤทธิ์ต้านแอนโดรเจน ซึ่งก็คือยาคุมกำเนิด Yaz นั่นเองค่ะ

แต่ถ้าเรารับประทานยาคุมกำเนิดอื่นอยู่และเห็นผลในการรักษาสิวที่ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาทานตัวนี้นะคะ เพราะฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่ามาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นหลัก ซึ่งมีอยู่ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมทุกยี่ห้ออยู่แล้วค่ะ

ข้อห้ามการใช้ยาคุมกำเนิด

  • ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism)
  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม, ความดันโลหิตสูง, เบาหวานเรื้อรัง, เส้นเลือดหัวใจตีบ, เส้นเลือดสมองตีบ และผู้ป่วยโรคตับ

สำหรับผู้ที่ไม่แน่ใจว่าจะใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวดีไหม หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว, รับประทานยาอื่น และกังวลถึงผลข้างเคียง สามารถเข้ามารับการตรวจรักษา และรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่พรเกษมคลินิกนะคะ

เรียบเรียงโดย
พญ. ปารินทร์ ศุจิจันทรรัตน์
แพทย์เฉพาะทางผิวหนัง ประจำพรเกษมคลินิก

เอกสารอ้างอิง
1. Elizabeth A. Arrington, MD; Nishit S. Patel, MD; Karen Gerancher, MD; Steven R. Feldman, MD, PhD. Combined Oral Contraceptives for the Treatment of Acne: A Practical Guide. Cutis. 2012; 90:83-90.
2. Laura Fitzpatrick, MD; Elizabeth Mauer, MS; Cynthia L. Chen, MD. Oral Contraceptives for Acne Treatment:US Dermatologists’ Knowledge, Comfort,and Prescribing Practices. Cutis. 2017; 99:195-201.
3. M.K. Trivedi, BS, BA, K. Shinkai, MD, PhD, J.E. Murase, MD. A Review of hormone-based therapies to treat adult acne vulgaris in women. International Journal of Women’s Dermatology 3. 2017:44–52
4. Radosław Słopień, Ewa Milewska, Piotr Rynio, Błażej Męczekalski. Use of oral contraceptives for management of acne vulgaris and hirsutism in women of reproductive and late reproductive age. Menopause Rev 2018; 17(1): 1-4