มาทำความรู้จักกับไรขนกันเถอะ

เมื่อเกิดตุ่มแดงๆขึ้นตามบริเวณแก้ม คาง ดูแล้วเหมือนสิว แต่ใช้ยาแต้มสิวแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ยิ่งทายิ่งแดงยิ่งแสบ ขึ้นมานานเป็นเดือนแล้วไม่หายสักที คนไข้เห็นแล้วมักจะคิดว่าตัวเองเป็นสิว ส่วนใหญ่อาจเป็นสิวจริงๆ แต่บางครั้งเป็นการอักเสบที่รูขุมขนที่ไม่ใช่สิว

 

ลักษณะของอาการ

  • เป็นเม็ดแดง บวม แสบๆ คันๆ มีหัวหนองขึ้นตามหน้าผาก แก้ม และคาง (ถ้าดูดีๆโดยละเอียดจะไม่เห็นเม็ดอุดตัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสิว)
  • ประวัติเป็นมานาน ชอบเห่อเวลาร้อนๆ หรือไปนวดหน้า ขัดหน้า หรือทำหัตถการเลเซอร์บางชนิดที่มีความร้อนสะสมที่หน้า เม็ดแดงๆพวกนี้ก็จะเห่อขึ้นอย่างรวดเร็ว

 


(ภาพตัวอย่าง)

 

เมื่อคนไข้มาพบแพทย์เรื่องของตุ่มแดงๆที่หน้า แพทย์จะต้องทำการซักประวัติ ตรวจดูลักษณะรอยโรคอย่างละเอียด แล้วจึงส่งทำการตรวจชันสูตร (Laboratory investigation) เพื่อดูว่าที่จริงแล้ว เม็ดแดงๆที่แก้มนั้นเป็นอะไรกันแน่

หากพบตัวไรขนตามรูปในวิดีโอนี้ แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ว่า รูขุมขนบนผิวหน้าเกิดการอักเสบจากเชื้อตัวไรขน (Demodicosis) เห็นรูปแล้วหลายๆคนคงจะตกใจและรู้สึกขนลุก แต่รูปนี้เป็นรูปถ่ายขยายถึง 40 เท่า เพราะตัวไรขนมีขนาดเล็กมาก โดยมีขนาดเพียง 0.3-0.6 มิลลิเมตรเท่านั้น ไม่ได้ใหญ่แบบพยาธิในลำไส้ แต่นับว่าเป็นปรสิต (Parasite) ชนิดหนึ่ง

ตัวไรขน (Demodex) มีอยู่ในสายพันธุ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammals) แต่ไรขนในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละพันธุ์จะเป็นคนละชนิดกัน ดังนั้น ไรขนในมนุษย์จึงเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในมนุษย์ (Demodex Follioculorum และ Demodex Brevis) ซึ่งต่างจากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น เช่น สุนัข ซึ่งจะเป็นพันธุ์ Demodex Canis ในภาวะสมดุลมนุษย์จะมีไรขนอยู่บ้าง มีบางงานวิจัยบ่งชี้ว่า ไรขนมีหน้าที่จับกินเศษซากของเซลล์ที่ตายแล้ว

ปัจจุบัน มีข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าหลายๆชิ้น ที่สนับสนุนว่า ตัวไรขนเป็นส่วนหนึ่งของตัวการที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่บริเวณใบหน้า เช่น โรคโรซาเชีย (Rosacea) โรครูขุมขนไขมันอักเสบเรื้อรัง (Saeborrheic Dermatitis) เป็นต้น

มีงานวิจัยที่ทำการตรวจนับปริมาณตัวไรขนในคนปกติที่ไม่เป็นผื่น เปรียบเทียบกันกับคนที่เป็นผื่นคล้ายกับคนไข้ในรูปตัวอย่าง (Pustulo Nodular rosacea) พบว่า ทั้งปริมาณและความถี่ในการพบเชื้อไรขนของคนที่มีรอยโรค มีมากกว่าคนปกติ ดังนั้น การรักษาไรขนในคนไข้ในรูปตัวอย่าง จึงทำให้อาการของคนไข้ดีขึ้นอย่างชัดเจน

ดังนั้น เมื่อเป็นโรคผิวหนังแบบมีเม็ดอักเสบที่หน้า รักษาไม่หายสักที อาจไม่ใช่เรื่องสิวๆ เพราะยังมีโรคผิวหนังของใบหน้าอีกหลายๆอย่างที่ดูเผินๆอาจจะคล้ายสิวแต่ไม่ใช่สิว การรักษาถ้าไปไม่ถูกทางก็จะเสียเวลา เสียทรัพยากร และเสียกำลังใจเป็นที่สุด

 

การรักษาไรขน

แพทย์จะใช้หลายๆวิธีร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

  1. ยารับประทาน มักจะใช้ยาต้านปรสิต (Anti parasite) หรือยาต้านแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต้านปรสิต เช่น Metronidazole
  2. ยาทา เป็นกลุ่มยาที่ใช้ต้านปรสิตเช่นกัน
  3. การทำหัตถการด้วยเลเซอร์บางชนิด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกทำให้คนไข้เป็นรายๆไปตามความเหมาะสม

 

การดูแลป้องกัน

ในผู้ป่วยที่มีผิวหน้าอักเสบจากไรขน มักจะมีผิวที่แห้งลอกคัน และระคายเคือง นอกจากการรักษาไรขนโดยตรงแล้ว ควรต้องดูแลอย่าให้ผิวหน้าระคายเคืองมากขึ้น โดยการล้างหน้าเบาๆ ใช้น้ำอุณหภูมิปกติ เลี่ยงน้ำที่อุ่นจัด ใช้ตัวล้างหน้าที่อ่อนที่สุด (ยิ่งมีฟองมาก ใช้ปริมาณมากๆ จะยิ่งระคายเคือง) หลายๆคนคิดว่าการมีไรขนเป็นความสกปรก ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง (เช่นเดียวกับการคิดว่าสิวเป็นเพราะล้างหน้าไม่สะอาด)

หลังล้างหน้า ควรทาครีมที่ให้ความชุ่มชื้น เลี่ยงครีมขาวใส ลดริ้วรอย งดใช้ตัวเช็ดเครื่องสำอาง โทนเนอร์ เพราะการเช็ดจะทำให้ผิวหน้าระคายเคืองมากขึ้น สำหรับกันแดด สามารถทาได้โดยเลือกกันแดดที่เป็นสูตรกายภาพ (physical sunscreen) ไม่มี whitening ไม่กันน้ำเพื่อที่สามารถล้างออกได้ง่าย

บทความโดย พญ.ปิยะดา ทิพรังกร
ตารางเวรเเพทย์ สามารถค้นหา (Search) ชื่อเเพทย์หรือสาขา