ทำความรู้จัก Monkeypox หรือโรคไข้ฝีดาษลิง

Monkeypox หรือโรคไข้ฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อโดยเชื้อไวรัส Monkeypox ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกับไวรัส Variola ที่ทำให้เกิดโรคไข้ฝีดาษ หรือ Smallpox โดยเชื้อไวรัส Monkeypox ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1958 และผู้ป่วยคนแรกถูกวินิจฉัยในปี 1970 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยในช่วงหลังนี้ได้รับความสนใจเนื่องจากได้มีการเจอการระบาดของโรคไข้ฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในทวีปยุโรป

โรคฝีดาษลิงติดต่อโดยการสัมผัสจากคน สัตว์ หรือสิ่งของที่มีไวรัสปนเปื้อน โดยไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ เยื่อบุในตา จมูกหรือปาก เมื่อได้ยินคำว่าฝีดาษแล้วคนส่วนใหญ่อาจจะกังวลว่าอาการจะรุนแรงเหมือนโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่เคยมีการระบาดและมีอัตราการเสียชีวิตถึง 30% หรือไม่?

จากข้อมูลของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) อาการของโรคฝีดาษลิงนั้นมีความคล้ายกับโรคฝีดาษ แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า อาการของโรคส่วนใหญ่จะเริ่มหลังจากมีการได้รับเชื้อ 7 – 14 วัน โดยอาการแรกเริ่มคือ ไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นข้อแตกต่างระหว่างไข้ฝีดาษลิงกับไข้ฝีดาษ
หลังจากนั้น 1 – 3 วันจะเริ่มมีผื่นขึ้น โดยผื่นส่วนใหญ่จะเริ่มที่หน้าแล้วลามไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ผื่นจะเริ่มจากเป็นจุดด่าง (Macule) แล้วพัฒนาเป็นตุ่ม (Papule) และตุ่มน้ำใส (Vesicle) จากนั้นเป็นตุ่มหนอง (Pustule) แล้วแตกเป็นสะเก็ด (Scab) ตามลำดับ โดยอาการของโรคฝีดาษลิงนั้นจะมีได้ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์

การรักษาโรคฝีดาษลิงนั้นจะเน้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากยังไม่มียาที่ได้รับการรับรองสำหรับโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ

  • เลี่ยงการสัมผัสกับคน สัตว์หรือสิ่งของที่มีเชื้อโรคหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค
  • ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสกับสิ่งต่างๆ
  • แยกผู้ป่วยออกจากกลุ่มคนทั่วไป


บทความน่ารู้โดย นพ.สิทธา ศรีปรัชญาอนันต์ (แพทย์ประจำพรเกษมคลินิก)